ไทยเบฟ ให้การสนับสนุนการจัดทำหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นประธานงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ณ ห้องประชุมหนุมาน 1 ชั้น 1 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ถนนอรุณอมรินทร์ กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์และประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จัดพิมพ์หนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต” ซึ่ง ดร.สุเมธ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตในการจัดพิมพ์ ด้วยมีเจตจำนงที่จะมอบให้เป็นลิขสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนาและรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือมอบสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

โดยหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” เป็นหนังสือบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ตั้งแต่วัยเยาว์ถึงปัจจุบัน โดยความพิเศษของหนังสือเล่มนี้คือ การบันทึกช่วงชีวิตตลอด 7 รอบนักษัตร หรือ 84 ปี ตั้งแต่เกิด ได้รับการศึกษา ออกเดินทางสู่โลกกว้าง และกลับมารับใช้แผ่นดินด้วยการพัฒนา ซึ่งในแต่ละช่วงวัยได้ผ่านประสบการณ์หลากหลายทั้งด้านดีและไม่ดี รวมถึงเหตุการณ์ในช่วงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ และการได้รับโอกาสในการถวายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จวบจนถึงปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตและมุมมองต่อเรื่องราวและเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล โดยถ่ายทอดให้เห็นถึงความเป็นจริงของชีวิตปุถุชนที่มีทั้งด้านดีและไม่ดีควบคู่กันไป มิใช่จะมีแต่ด้านดีด้านเดียวอย่างที่คนอื่นเข้าใจ

จุดเริ่มต้นของการจัดทำหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” เกิดขึ้นจากความตั้งใจของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานรุ่น ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ นพย. ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดทำหลักสูตรการอบรมนี้ขึ้น เมื่อปี 2559 เพื่อสร้างผู้นำคลื่นลูกใหม่ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อันจะนำสังคมไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุลเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนต่อไป

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี เห็นว่าในแต่ละช่วงชีวิตทุกวัยของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นั้นมีประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยเฉพาะในช่วงวัยที่ต้องจากประเทศไทยไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเวียดนาม ลาว และฝรั่งเศส รวมถึงการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจที่อาจจะไม่มีใครเคยทราบมาก่อน โดยเฉพาะการทรงงานเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศเพื่อเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังต่อไป

โดยได้กล่าวในบทมุทิตาคารวะซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งใจความว่า “…เห็นท่านอาจารย์มีบุคลิกอารมณ์ดีเช่นนี้ ใครจะนึกฝันว่าท่านเคยเผชิญกับทางแยกและจุดหักเหของโชคชะตาชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า มีประสบการณ์เฉียดตายนับไม่ถ้วน ด้วยความแข็งแกร่งเพียงพอและการตั้งสติที่ดีพอ จึงทำให้ท่านสามารถฝ่าฟันอุปสรรคได้ในสถานการณ์ที่มืดมนและชะตาแปรผันเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ยังเป็นบันทึกสำคัญ เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ของการพัฒนาประเทศไทย ในยุคที่โลกมีความวุ่นวายและสับสน ว่าประเทศไทยของเราได้ประคับประคองตัวเองให้ผ่านวิกฤตหลายๆ ครั้งมาได้อย่างไร โดยยังสามารถสร้างประโยชน์และความสุขให้แก่สังคมไทยมาจนตราบทุกวันนี้…”

การจัดทำหนังสือชีวิตนี้ชะตาลิขิต ได้แบ่งเนื้อหาภายในออกเป็น 7 บท ตาม 7 รอบนักษัตร ดังนี้

รอบนักษัตรที่ 1 (พุทธศักราช 2482 – 2494) วัยเยาว์รสหวานปนขม : ช่วงชีวิตวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงก่อนวัยเรียน ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยด้วยร่างกายที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงนักและครอบครัวแตกแยก

รอบนักษัตรที่ 2 (พุทธศักราช 2494 – 2506) เปิดประตููสู่โลกกว้าง : ช่วงชีวิตวัยเรียนที่ต้องเดินทางเพื่อศึกษาต่อในหลายประเทศเนื่องจากเกิดภัยสงคราม

รอบนักษัตรที่ 3 (พุทธศักราช 2506 – 2518) กลับสู่มาตุภูมิ : ช่วงชีวิตของการทำงานในประเทศไทย เริ่มรับราชการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพทั้ง 4 ภาค และจุดเริ่มต้นชีวิตกลางสนามรบ

รอบนักษัตรที่ 4 (พุทธศักราช 2518 – 2530) รอนแรมในสมรภูมิ : ดำรงตำแหน่งเลขานุการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานเลขานุการ กปร.) และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจในสภาพัฒน์ไปพร้อมกัน ชีวิตการทำงานที่ต้องวางแผนรับมือสงครามและปฏิบัติงานในสนามรบจริงถึง 11 ปี และเริ่มต้นการเป็นนักเรียนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยาวนานถึง 35 ปี

รอบนักษัตรที่ 5 (พุทธศักราช 2530 – 2542) ถวายงานด้านการพัฒนา : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.สุเมธ เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นช่วงของการดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมกับเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ชีวิตการทำงานแบบซีี 22

รอบนักษัตรที่ 6 (พุทธศักราช 2542 – 2554) รางวัลแห่งชีวิต : ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และการทำงานอย่างไม่มีวันเกษียณ 

รอบนักษัตรที่ 7 (พุทธศักราช 2554 – 2566) ฝากไว้ให้สานต่อ : ดร.สุเมธ เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานสถานการณ์ต่าง ๆ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ โรงพยาบาลศิริราชครั้งสุดท้ายและรับสั่งว่า “สุเมธ งานยังไม่เสร็จนะ”

การจัดทำหนังสือเล่มนี้ได้รับการสนับสนุนการจัดพิมพ์โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสิริวัฒนภักดี โดยมีบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบการจัดวางเนื้อหารวบรวมข้อมูลและวางรูปแบบหนังสือรวมทั้งจัดพิมพ์

หนังสือจะเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานและทรงซื้อหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” เล่มแรกที่วางจำหน่าย ในวันที่ 28 มีนาคม 2567 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อ ดร.สุเมธ อย่างหาที่สุดมิได้

นอกจากนี้ ได้วางจำหน่าย: ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ได้แก่ ร้านนายอินทร์ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซีเอ็ดบุ๊ค เซ็นเตอร์ (SE-ED Book Center) บีทูเอส (B2S) คิโนะคูนิยะ (Kinokuniya) และเอเซียบุ๊คส (Asia Books)

ร้านภัทรพัฒน์
– สำนักงานใหญ่ สนามเสือป่า: 0 2282 4425
– สาขาพระราม 8: 0 2447 8585 ต่อ 119
– สาขาโครงการชัยพัฒนาประชาเกษม: 0 2116 5702
– สาขาเดอะพาซิโอ ทาวน์: 0 2111 3164
– สาขาพระราม 9: 0 2643 9024
– สาขาไอคอนสยาม: 0 2282 4425
– สาขา ปตท. ทางด่วนบางนาขาออก: 0 2120 7064
– สาขาบองมาร์เช่: 0 2591 9151
– สาขา ปตท. วิภาวดี 62: 0 2126 0996

ร้านมูลนิธิชัยพัฒนา สาขาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย: 09 9636 7949

รายได้จากการจำหน่ายหนังสือทั้งหมดสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา ในราคาเล่มละ 999 บาท


ข้อมูลวันที่ 23/03/2024