ชุมชนดีมีรอยยิ้ม x eisa ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อยอดความยั่งยืนสู่ชุมชน “พัฒนาแผนการตลาด” กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง ต.นพรัตน์ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี

ชุมชนดีมีรอยยิ้ม ร่วมกับ โครงการ eisa (Education Institute Support Activity) โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดยรศ.ดร.พรลภัส สุวรรณรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ นำนิสิตลงพื้นที่กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง ตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เพื่อส่งเสริมวางแนวทางการพัฒนาแผนการตลาดของชุมชน พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเรื่องการสร้างแบรนด์ การตั้งราคาสินค้า และการต่อยอดขยายผลในอนาคต ร่วมรับโจทย์จากชุมชน ในวันอังคารที่ 30 มกราคม 2567 และดำเนินการนำเสนอแผนการตลาด ในวันพุธที่ 13 มีนาคม 2567

“กล้วยหอมทอง” จังหวัดปทุมธานี
กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง ตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมทองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีเนื้อที่กว่า 1,500 ไร่ ปัจจุบันทางกลุ่มมีผลิตภัณฑ์แปรรูปขึ้นชื่อจากกล้วยหอมทอง อย่างกล้วยอบและกล้วยฉาบ ภายใต้แบรนด์ “หอมนอกกรอบ” โดยมีคุณนุกูล นามปราศัย ประธานกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง จังหวัดปทุมธานี

กล้วยหอมทองของจังหวัดปทุมธานีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ มีรสชาติหวานหอม กลมกล่อม มีผลใหญ่ยาว เปลือกบาง ผิวนวล เนื้อเหนียวแน่น ผลดิบจะมีสีเขียวนวล เมื่อสุกจะมีสีทองนวล โดยบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีปทุมธานี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ได้สนับสนุนผลักดันจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 โดยในปัจจุบันสินค้าแปรรูปจากกล้วยหอมทองเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สามารถช่วยสร้างอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร

การปลูกกล้วยไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ ต้องเรียนรู้และใส่ใจ
อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์จากกล้วยหอมทองที่ยังมีปัญหาในด้านคุณภาพผลผลิตที่ยังไม่ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และปริมาณการผลิตที่ยังไม่คงที่ จึงยังไม่ตอบโจทย์ตลาดที่มีความต้องการสูง ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนกับคณาจารย์และนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาด้านการตลาด การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ รวมถึงการต่อยอดจากสิ่งที่ชุมชนมีไปขยายผลให้กว้างมากยิ่งขึ้น เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ไอเดียของคนรุ่นใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการชุมชน
จากการลงพื้นพี่รับโจทย์ ไปจนถึงการนำเสนอแผนการตลาด ของน้อง ๆ นิสิตคณะบริหารธุรกิจ และจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชน ซึ่งคณาจารย์และนิสิต เห็นว่าทางกลุ่มควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองให้มากขึ้น และเพื่อให้การผลิตกล้วยหอมทองเพียงพอต่อตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีคุณภาพตามเกณฑ์การส่งออกได้ เนื่องจากกล้วยหอมทองของตำบลปทุมรัตน์ จังหวัดปทุมธานี ถือว่ามีคุณภาพดี เพียงแต่ยังขาดปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะยังไม่พร้อมต่อการขยายผล ทางน้อง ๆ จึงได้ออกแบบแผนการตลาดที่ครอบคลุม ส่งต่อให้กับกลุ่มได้นำไปต่อยอดและทำความเข้าใจในมุมมองการตลาดยุคใหม่ ที่จะสามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเดิม และสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

“ไทยเบฟร่วมสร้างชุมชนดีมีรอยยิ้ม” การผสานความร่วมมือของเครือข่ายระหว่างชุมชน x มหาวิทยาลัย
การผสานความร่วมมือในด้านการพัฒนาชุมชนร่วมกันระหว่าง ชุมชนดีมีรอยยิ้ม x โครงการ eisa  โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เชื่อมโยงเครือข่ายที่เข้มแข็งและมีความพร้อม ได้มาทำงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน และส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับชุมชน รวมถึงการสร้างประสบการณ์การทำงานจริงให้กับนิสิต นักศึกษา ได้ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน มีชุมชนเป็นครู ได้รับโจทย์จริง ลงมือทำจริง สามารถสร้างทักษะชีวิตให้กับนิสิต นักศึกษา ได้นำไปต่อยอดให้กับตัวเองได้ในอนาคต


ข้อมูลวันที่ 14/04/2024